1 บล็อกแก้ว รุ่น และลายที่ต้องการ
2 อุปกรณ์จัดแนวตามรุ่นบล็อกแก้ว
3 เหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม.
4 ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ หรือปูนซีเมนต์ผสมสำเร็จรูปสำหรับงานก่อ
5 ถังผสมปูน
6 เกรียงก่ออิฐ (เกรียงใบโพธิ์)
7 ค้อนยาง
8 สว่าน และดอกสว่านสำหรับเจาะปูน
9 อีพอกซี่
10 ระดับน้ำ
11 ตลับเมตร
12 วัสดุยาแนว เช่นยาแนวสำหรับบล็อกแก้วหรือร่องกว้าง, ซิลิโคน, โพลียูรีเทน (PU), โมดิฟายซิลิโคน
13 ปืนยิงยาแนว, เกรียงยางปาดยาแนว
14 ฟองน้ำ
ทำเคิร์บสำหรับก่อบล็อกแก้ว โดยสูงไม่น้อยกว่า 10 ซม. และปรับพื้นผิวเคิร์บให้เรียบและได้ฉากกับเสา เพื่อให้ก่อบล็อกแก้วได้ระดับ และง่ายขึ้น
การก่อบล็อกแก้วต้องมีการใส่เหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. จำนวน 2 เส้น ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทุกระยะ 40 ซม. ยาวตลอดความกว้างหรือความสูงของพื้นที่ก่อบล็อกแก้ว และทำการต่อทาบกับเหล็กหนวดกุ้งที่ยึดกับเสาหรือคาน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังบล็อกแก้ว
การเลือกใช้อุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว
การเลือกอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วให้ตรงตามรุ่นบล็อกแก้วที่ใช้งาน โดยเลือกจาก 2 ปัจจัย คือ ขนาดร่องก่อบล็อกแก้วตามรุ่น (10 มม. และ 2 มม.) และ ความหนาของบล็อกแก้ว (80 มม. และ 90 มม.) บล็อกแก้วโดยทั่วไปจะมีขนาดร่องก่อ 10 มม.
ยกเว้น บล็อกแก้วรุ่น Next series ซึ่งเป็นบล็อกแก้วที่ผลิตเป็นพิเศษทำให้มีขนาดร่องก่อ 2 มม. โดยยังสามารถมีพื้นที่ใส่ปูนก่อ และเหล็กเสริมได้เท่ากับบล็อกแก้วที่มีขนาดร่องก่อ 10 มม.
*หมายเหตุ การก่อบล็อกแก้วที่มีร่องก่อเล็กกว่าขนาดร่องก่อที่กำหนดอาจทำให้ผนังบล็อกแก้วมีความแข็งแรงลดลง เนื่องจากปริมาณปูนก่อที่น้อยลง และอาจไม่มีพื้นที่เพียงพอที่สามารถใส่เหล็กเสริมได้
ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับการก่อบล็อกแก้วสามารถใช้ได้ 2 รูปแบบ คือ ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ และปูนซีเมนต์สำเร็จรูปสำหรับงานก่อโดยปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ จะทำการผสมส่วนผสมตามอัตราส่วน ปูน 1 ส่วน :ทราย 3 ส่วน :น้ำ 1 ส่วน
เมื่อทำการใส่ปูนและทรายในถังผสมปูน ค่อยๆ ใส่น้ำแล้วใช้เกรียงก่ออิฐผสมให้เข้ากันในถังผสมปูน วิธีสังเกตว่าปูนผสมได้ที่แล้วหรือไม่นั้น สังเกตได้จากการใช้เกรียงก่ออิฐตักปูนที่ผสมแล้ว ถ้าเนื้อปูนติดเกรียงก่ออิฐ เนื้อปูนไม่เหลวเกินไป แสดงว่าปูนก่อสามารถนำไปใช้งานได้ ส่วนปูนซีเมนต์สำเร็จรูปสำหรับงานก่อ จะทำการผสมส่วนผสมตามอัตราส่วน ปูน 1 ถุง (50 กก.) : น้ำ 7-9 ลิตร ไม่ต้องผสมทรายเพิ่ม
ก่อนที่จะทำการก่อบล็อกแก้วแก้วแรก สิ่งที่เราต้องรู้ คือ การใช้อุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว หรือ SPACER ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถก่อบล็อกแก้วได้อย่างเที่ยงตรง แม่นยำ และสวยงามทั้งในแนวดิ่ง และแนวนอน นอกจากความสวยงามของการก่อบล็อกแก้วแล้วอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วยังช่วยให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องรอให้ปูนก่อแข็งตัวพอที่จะรับน้ำหนักบล็อกแก้วแถวต่อไป
การเลือกอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วให้ตรงตามรุ่นบล็อกแก้วที่ใช้งาน โดยเลือกจาก 2 ปัจจัย คือ ขนาดร่องก่อบล็อกแก้วตามรุ่น (10 มม. และ 2 มม.) และ ความหนาของบล็อกแก้ว (80 มม. และ 90 มม.)
บล็อกแก้วโดยทั่วไปจะมีขนาดร่องก่อ 10 มม. ยกเว้น บล็อกแก้วรุ่น Next series ซึ่งเป็นบล็อกแก้วที่ผลิตเป็นพิเศษทำให้มีขนาดร่องก่อ 2 มม. โดยยังสามารถมีพื้นที่ใส่ปูนก่อ และเหล็กเสริมได้เท่ากับบล็อกแก้วที่มีขนาดร่องก่อ 10 มม.
*หมายเหตุ
การก่อบล็อกแก้วที่มีร่องก่อเล็กกว่าขนาดร่องก่อที่กำหนดอาจทำให้ผนังบล็อกแก้วมีความแข็งแรงลดลง เนื่องจากปริมาณปูนก่อที่น้อยลง และอาจไม่มีพื้นที่เพียงพอที่สามารถใส่เหล็กเสริมได้
วิธีการใช้งานอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว
การก่อบล็อกแก้วโดยทั่วไปจะใช้งานอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว 3 รูปแบบ ดังนี้
วิธีการหักขาอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว
ใส่ปูนก่อเหนือเคิร์บ และวางอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วรูปตัว “L” สำหรับมุมของการก่อบล็อกแก้ว และอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วรูปตัว “T” สำหรับด้านล่าง เพื่อรองรับและจัดแนวก่อบล็อกแก้ว โดยสังเกตจากบล็อกแก้วแนบชิดกับอุปกรณ์จัดแนว ไม่มีช่องว่างหรือ เศษปูนอยู่ระหว่างบล็อกแก้วและอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว หากมีช่องว่าง หรือเศษปูนอยู่ระหว่างบล็อกแก้วและอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วจะทำให้ร่องก่อมีขนาดใหญ่กว่าปกติ จากนั้นก่อบล็อกแก้วก้อนต่อไป
เมื่อถึงตำแหน่งที่มีการเสริมเหล็กหนวดกุ้งแนวตั้งให้ทำการใส่เหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. ยาวตลอดความสูงของพื้นที่ก่อ จำนวน 2 เส้น โดยให้ตำแหน่งเหล็กเส้นกลมอยู่ระหว่างตำแหน่งเขี้ยวของอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว และมีระยะต่อทาบกับเหล็กหนวดกุ้งอย่างน้อย 25-30 เซนติเมตร
*หมายเหตุ เหล็กเส้นกลมควรเลือกเหล็กที่ตรงไม่โค้งงอ โดยทั่วไปการนำเหล็กที่งอมาดัดให้ตรงจะมีการโค้งงอเล็กๆ ซึ่งจะส่งผลให้เหล็กดันบล็อกแก้วก้อนถัดไปทำให้ร่องก่อกว้างกว่าปกติได้ หากเหล็กเส้นกลมมีความยาวมาก อาจต้องทำจุดยึดเหล็กชั่วคราว เพื่อไม่ให้ปลายเหล็กเส้นกลมขยับ
หากตำแหน่งของเหล็กเส้นกลมชนกับเขี้ยวของอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว ไม่สามารถใส่ในเขี้ยวของอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วได้ สามารถทำการตัดเขี้ยวของอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วออกได้ อย่าพยายามบังคับเหล็กใส่ในเขี้ยวของอุปกรณ์จัดแนวก่อเพราะจะทำให้เหล็กดันอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้วขยับส่งผลให้แนวก่อบล็อกแก้วขยับได้ โดยพยายามไม่ให้ตำแหน่งเหล็กอยู่เกินกว่าตำแหน่งเขี้ยวของอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว เพื่อให้ระยะหุ้มเหล็กไม่น้อยเกินไป
ขณะก่อบล็อกแก้วควรตรวจสอบความถูกต้องของการก่อบล็อกแก้วโดยใช้ระดับน้ำตรวจสอบระดับของบล็อกแก้วทั้งแนบราบ และแนวดิ่ง สามารถสังเกตจากฟองอากาศภายในของเหลวที่บรรจุอยู่ในหลอดแก้วให้อยู่จุดกึ่งกลาง เพื่อให้บล็อกแก้วที่ต้องการตรวจสอบอยู่ในระดับที่ถูกต้อง
การตรวจสอบระดับในแนวราบ (ลึก) ทำให้ทราบว่าบล็อกแก้วก้อนนั้นมีการเอียงไปข้างหน้า หรือข้างหลังหรือไม่การตรวจสอบระดับในแนวราบ (กว้าง) ทำให้ทราบว่าบล็อกแก้วที่อยู่ติดกันอยู่ระดับความสูงเดียวกัน การตรวจสอบระดับในแนวดิ่ง ทำให้ทราบว่าบล็อกแก้วแต่ละแถวตรงกัน
*หมายเหตุ ควรตรวจเช็คศูนย์ของระดับน้ำก่อนนำมาใช้งาน โดยการวัดแล้วหมุนระดับน้ำ 180 องศา หากหมุนแล้วฟองอากาศไม่ตรงกัน ควรตั้งศูนย์ของระดับน้ำใหม่ หรือเปลี่ยนระดับน้ำที่ได้มาตรฐานก่อวัดอีกครั้ง
เมื่อก่อบล็อกแก้วถึงตำแหน่งที่มีการเสริมเหล็กหนวดกุ้งแนวนอนให้ทำการใส่เหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. ยาวตลอดความกว้างของพื้นที่ก่อ จำนวน 2 เส้น โดยให้ตำแหน่งเหล็กเส้นกลมอยู่ด้านในของเหล็กเสริมแนวตั้ง และมีระยะต่อทาบกับเหล็กหนวดกุ้งอย่างน้อย 25-30 เซนติเมตร
*หมายเหตุ
เหล็กเส้นกลมควรเลือกเหล็กที่ตรงไม่โค้งงอ โดยทั่วไปการนำเหล็กที่งอมาดัดให้ตรงจะมีการโค้งงอเล็กๆ ซึ่งจะส่งผลให้เหล็กดันบล็อกแก้วแถวถัดไปทำให้ร่องก่อกว้างกว่าปกติได้
เมื่อทำการก่อบล็อกแก้วจนเต็มพื้นที่และปูนก่อแข็งตัวแล้ว ให้ทำการถอดปีกหกเหลี่ยมออกจากอุปกรณ์จัดแนวก่อบล็อกแก้ว และทำการเซาะร่องปูนแต่งแนวก่อสำหรับยาแนว โดยให้มีความลึกเหมาะสม ไม่ตื้นเกินไป ซึ่งจะทำให้ยาแนวหลุดร่อนได้ง่าย นอกจากนี้ควรทำความสะอาด และปัดเศษปูน ฝุ่นออกจากร่องก่อและบล็อกแก้วด้วยฟองน้ำ
วัสดุยาแนวมีหลายชนิด สามารถเลือกใช้ได้ดังนี้
1.ยาแนวสำหรับบล็อกแก้วและร่องกว้าง
วัสดุยาแนวที่นิยมใช้มากที่สุดในการก่อบล็อกแก้ว เนื่องจากมีราคาถูกกว่าวัสดุยาแนวประเภทอื่น ควรเลือกใช้ยาแนวสำหรับบล็อกแก้วและร่องกว้างโดยเฉพาะ เพื่อลดปัญหารอยแตกร้าวและน้ำซึมตามร่องยาแนว
2.ซิลิโคน
วัสดุยาแนวที่มีความยืดหยุ่น 25% ใช้งานได้หลากหลาย และทนรังสียูวี จึงใช้งานภายนอกอาคารได้ มีแรงยึดเกาะสูง
3.โพลิยูรีเทน (PU)
วัสดุยาแนวที่มีความยืดหยุ่น 35% แห้งแล้วไม่หดตัว ทาสีทับได้ ทนแสงยูวีได้ระดับหนึ่ง จึงใช้ได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร
4.โมดิฟายซิลิโคน
วัสดุยาแนวที่ผลิตขึ้นโดยรวมคุณสมบัติที่ดีของพียูกับซิลิโคน คือ มีความยืดหยุ่นสูง ป้องกันรังสียูวีได้เหมือนซิลิโคน สามารถทาสีทับได้เหมือนโพลิยูรีเทน ใช้งานในพื้นที่เปียกชื้นได้ ยึดเกาะสูง
หลังจากเซาะร่องเสร็จแล้วจึงยาแนวบล็อกแก้วตามวัสดุยาแนวที่เลือกใช้โดยไม่ยาแนวเกินส่วนโค้งของบล็อกแก้ว เนื่องจากหากยาแนวเกินส่วนโค้งจะทำให้ขนาดของร่องก่อดูใหญ่กว่าปกติ เมื่อยาแนวเสร็จแล้วจะได้ผนังบล็อกแก้วที่สวยงามตามต้องการ